2016 – 2017 SILPASEAN
An ASEAN Interpretation of Compositions by His Majesty King Bhumibol Adulyadej
วัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านในอุษาคเนย์ มีการแลกเปลี่ยนร่วมกันมาแต่โบราณและพัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์ของ
แต่ละสังคม ความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน มีผลต่อสภาวะความอยู่รอด-การปรับเปลี่ยนและความสูญหายของดนตรีพื้นบ้านในอุษาคเนย์ ทำให้ดนตรีพื้นบ้านในภูมิภาคนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการศึกษา เก็บข้อมูล วิเคราะห์แยกแยะ และสร้างระบบการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะของห้องสมุดเสียงดิจิตอล หรือฐานข้อมูลโน้ตเพลง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาระยะยาวและการพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมดนตรีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เห็นความจำเป็นในการสร้างศูนย์เครือข่ายดนตรีดิจิตอล โดยเลือกองค์กรทางการศึกษาหรือองค์กรที่เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมดนตรีที่เป็นตัวแทนในแต่ละประเทศ และสร้างความร่วมมือกับนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญระบบการเก็บข้อมูลดนตรีพื้นบ้าน เพื่อการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะ และระบบการใช้งานเทคโนโลยีดนตรีที่เกี่ยวกับเสียง การบันทึกโน้ต-บันทึกภาพ-บันทึกภาพเคลื่อนไหว ผ่านการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดความรู้ การทำโครงงานร่วมกัน และการพัฒนาแนวทางสื่อดิจิตอล อันจะนำไปสู่การสังเคราะห์ความรู้ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแนวทางในการอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านของอุษาคเนย์ ตลอดจนการพัฒนาไปสู่การสร้างงานสร้างสรรค์ที่มีความเหมาะสมกับแต่ละสังคมวัฒนธรรม โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 คณะฯได้นำบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นบทเพลงตัวแทนของประเทศไทยในการบูรณาการความรู้เรื่องเครื่องดนตรีพื้นบ้านอาเซียนเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมดนตรีที่งดงามของประเทศในกลุ่มอาเซียน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดทำผลงานบทเพลงพระราชนิพนธ์ โดยการบูรณาการความรู้เรื่องเครื่องดนตรีพื้นบ้านอาเซียนมาบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์เพื่อใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดความสวยงามทางวัฒนธรรมต่อกัน โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน
2. เพื่อสร้างฐานความรู้ ประสบการณ์ร่วมของบุคลากรดนตรีอาเซียน ที่จะนำไปสู่การบูรณาการองค์ความรู้ ทางดนตรีวิทยา มานุษยวิทยาดนตรี เทคโนโลยีดนตรี และงานประพันธ์ดนตรีแนวสร้างสรรค์
3. เพื่อยกระดับและสร้างมาตรฐานในการศึกษาดนตรีในประเทศไทย ให้มีความรู้เท่าเทียมเพื่อนบ้าน มีความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองขึ้นเป็นผู้นำทางด้านวัฒนธรรมดนตรี สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
4. เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยศิลปากรสู่สังคมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
รูปแบบการดำเนินงาน
การจัดตั้งเครือข่ายสถาบันการศึกษา เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาดนตรีพื้นบ้านอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป นำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านอาเซียนและเครื่องดนตรีไทยมาใช้ในการเรียบเรียงเพลงพระราชนิพนธ์ จัดทำซีดีบทเพลงพระราชนิพนธ์ภายใต้ชื่อ SILPASEAN: An ASEAN Interpretation of Compositions by His Majesty King Bhumibol Adulyadej โดยเชิญนักดนตรีในประเทศเครือข่ายอาเซียน ได้แก่ Ms. LE THUY LINH จากประเทศเวียดนาม และ Mr. Aung Pyae Son จากประเทศเมียนมา นอกจากนี้ได้สร้างความร่วมมือกับ Faculty of Fine Arts, University of Agder (UiA), Kristiansand Norway สนับสนุนให้ศิลปินและผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียบเรียงเสียงประสานบทเพลงในผลงานสร้างสรรค์ทางดนตรี SILPASEAN นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ ศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบันของคณะฯ ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน โดยได้ร่วมมือกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดการแสดงผลงานดังกล่าวในโครงการ Asean Music Event ซึ่งเป็นการนำเครื่องดนตรีจากประเทศสมาชิกในอาเซียนมาบรรเลงและแสดงในงาน Tribute to His Majesty King Bhumibol Adulyadej Concert
การแสดง Tribute to His Majesty King Bhumibol Adulyadej Concert
โครงการแสดงดนตรีบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เสาร์ที่ 18 มีนาคม 2560 เวลา 17.00 – 22.00 น.
ลานด้านหน้า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครขอเชิญทุกท่านร่วมน้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน ในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแวดวงดนตรีของประเทศไทย เชิญร่วมชมการแสดงคอนเสิร์ตจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรรเลงโดยคณาจารย์และนักศึกษาจาก 5 สถาบัน ได้แก่
C.U. Clarinet Ensemble จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Kasetsart Wind Symphony Orchestra ภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Rangsit University Jazz Orchestra วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
ศิลปะเซียน คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Pomelo Town วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เพื่อเป็นการร่วมน้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน ในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแวดวงดนตรีของประเทศไทย คณะฯได้นำบทเพลง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นบทเพลงตัวแทนของประเทศไทยในการบูรณาการความรู้เรื่องเครื่องดนตรีพื้นบ้านอาเซียนเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมดนตรีที่งดงามของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยจัดแสดงการแสดงดนตรีบทเพลงพระราชนิพนธ์ โดยนักศึกษาดนตรี และอาจารย์ จาก 5 สถาบัน ได้แก่ 1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 3. ภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4. วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต และ 5. วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีรูปแบบวงฯ ที่แตกต่างกันไป เพื่อเป็นการแสดงถึงแรงบันดาลใจ ที่เหล่าเยาวชนนักศึกษาดนตรีได้รับจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อเป็นการถวายความเคารพในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในฐานะองค์อัครศิลปิน รวมทั้งพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแวดวงดนตรีของประเทศไทย
การแสดงนี้เป็นการแสดงผลงานดนตรีซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีอาเซียน เช่น ด่านบ๋าว จากประเทศเวียดนาม กุลินตางัน จากประเทศบรูไน อังกะลุง จากประเทศอินโดนีเซีย และระนาด จากประเทศไทย มาผสมผสานกับการเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ในสไตล์ดนตรีแจ๊สซึ่งยังไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน โดยจะนำแสดงในวันที่ 18 มีนาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพบรรยากาศการอัดเสียง
https://www.flickr.com/photos/music_silpakorn/albums/72157676915572604
ภาพบรรยากาศการแสดง
https://www.flickr.com/photos/music_silpakorn/albums/72157697165737954
ดาวน์โหลดปกซีดีเพลง
https://drive.google.com/open?id=0BxV68uxHQaa_Nl9UZlM0T1RsMzg
วีดีโอคอนเสิร์ต
HM Blues: https://www.youtube.com/watch?v=R3zWe1tfM2s&index=18&list=PLda0U6W-9Hc4SinNV00RIlBtz8HxRSNXs
OH I Say: https://www.youtube.com/watch?v=Ace5LZfSwEU
Magic Beam: https://www.youtube.com/watch?v=U9OaNyNas08&t=3s
เบื้องหลังการอัดเพลง
OH I say : https://youtu.be/CQLiF2EctjM