4-5 June 2014
Guitamit : Myanmar
สถาบันดนตรีคีตมิตร หรือที่ออกเสียงเป็นภาษาพม่าว่า “คีตาเมย” ซึ่งแปลว่า Musical Friendship เป็นสถาบันดนตรีเอกชนที่ก่อตั้งโดยอาจารย์คิด ยัง Kit Young นักเปียโนชาวอเมริกัน ผู้มีความสนใจในศิลปวัฒนธรรมพม่า และมีวิสัยทัศน์ที่จะเห็นการพัฒนาของสังคมพม่าโดยมีดนตรีเป็นตัวขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของคนพม่า ไม่ว่าจะเป็นดนตรีประเภทใดก็ตาม โอกาสของคนหนุ่มสาวพม่าในการได้ทำกิจกรรมดนตรีอย่างจริงจัง มีไม่มากนักในอดีต ซึ่งบรรยากาศทางวัฒนธรรมยังตกอยู่ใต้ข้อจำกัดทางการเมือง อาจารย์คิด ยัง จึงได้สละทุนทรัพย์ส่วนตัวและเงินบริจาคเพิ่มเติม ก่อตั้งสถาบันดนตรีคีตมิตรขึ้นมาในปี พ.ศ.2546 โดยมีมิตรสหายในแวดวงดนตรีคลาสสิค ดนตรีแจ๊ส ดนตรีป๊อป และดนตรีพื้นบ้าน มาร่วมงานพัฒนาองค์กรกันอย่างต่อเนื่อง มีกองทุนสนับสนุนจากนานาชาติมาช่วยอุปถัมภ์การดำเนินงาน สามารถที่จะเปิดรับเยาวชนที่มีความสามารถทางดนตรีมาพักอาศัยและมาเรียนดนตรี ฝึกซ้อมดนตรีกันได้ตลอดทุกวัน นอกจากนี้ ก็ยังมีมิตรประเทศหลายแห่งที่เปิดโอกาสให้เยาวชนดนตรีจากคีตมิตรเดินทางไกลไปหาประสบการณ์การเรียนดนตรีเพิ่มเติม หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมดนตรีนานาชาติ
สำหรับความสัมพันธ์กับคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบันนี้ โดยอาจารย์อานันท์ นาคคง เมื่อครั้งยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเดินทางไปช่วยโครงการต่างๆของอาจารย์คิด ยัง สม่ำเสมอ รวมทั้งอุปถัมภ์นักศึกษาดนตรีแลกเปลี่ยนชาวพม่าเมื่อจะต้องใช้ชีวิตในประเทศ ไทยหลายคน ต่อมาเมื่อได้เข้ามาทำงานที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้ผลักดันให้ นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสังคีตวิจัยและพัฒนา วิชาเอกมานุษยดุริยางวิทยาและการประพันธ์เพลง ได้เดินทางมาเยือนสถาบันคีตมิตรเป็นประจำ ร่วมทำงานดนตรีสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนวิชาการดนตรี ร่วมงานพัฒนาระบบห้องสมุดดนตรี และบันทึกข้อมูลดนตรีพม่าจากนักดนตรีรุ่นอาวุโสเอาไว้ โดยมีอาจารย์ฌอง ดาวิด ไคลูเอทท์ ร่วมกิจกรรมเป็นบางครั้งดังนั้น ในการมาเยือนสถาบันคีตมิตรครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นการ สานสัมพันธ์ต่อเนื่องโดยมีการใช้ดนตรีแจ๊สเป็นสื่อสัมพันธ์อย่างจริงจังครั้งแรก เพื่อมุ่งหวังให้นักศึกษาและคณาจารย์ดนตรีแจ๊สเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้สังคมวัฒนธรรม อาเซียนและพัฒนาผลงานเพื่อประชาคมอาเซียนได้อย่างชัดเจนต่อไปในอนาคต
อาจารย์อานันท์และอาจารย์ฌอง-ดาวิด ได้เดินทางล่วงหน้าคณะนักดนตรีแจ๊สไปก่อนเป็นเวลาสองวัน เพื่อบันทึกภาพ บันทึกเสียง ถ่ายทำสารคดีดนตรีพม่า โดยทำงานร่วมกับครูดนตรีคนสำคัญของสถาบันคีตมิตร ชื่อครูอู ถิ่น อายุ 83 ปี เป็นนักกีตาร์และนักดีดพิณที่มีฝีมือยอดเยี่ยม มีความรู้เรื่องเพลงพม่าโบราณและกลุ่มเพลงสยามโบราณที่เคยตกไปอยู่ในดินแดนพม่าเมื่อครั้งสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาราวสองร้อยกว่าปีที่แล้ว พม่าเรียกเพลงสยามเหล่านี้ว่า “เพลงโยเดีย” โดยที่ครูอูถิ่น ได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง จดจำเพลงโยเดียเอาไว้ได้เป็นร้อยๆเพลง นอกจากนี้ยังสามารถให้ข้อมูลเรื่องเพลงประกอบภาพยนตร์ยุคอดีตที่เป็นหนังขาวดำได้แม่นยำ ถือว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ามาก อันที่จริงการเก็บข้อมูลเรื่องครูอูถิ่นและดนตรีโยเดีย ดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2555-56 แล้ว โดยอาจารย์ฌอง-ดาวิด ติดตามถ่ายทำการแสดงดนตรีและการสอนดนตรีของครูอูถิ่นมาเป็นระยะๆ ดังนั้นการเดินทางมาเยือนพม่าของทางภาควิชาดนตรีแจ๊สครั้งนี้ก็นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะบันทึกฟุตเตจวิดีโอและบันทึกเสียงครั้งใหญ่เอาไว้ด้วย การถ่ายทำและบันทึกเสียง มีอาสาสมัครนักเรียนดนตรีของสถาบันคีตมิตรร่วมเดินทางและเป็นล่ามแปลภาษาให้ตลอดเวลา มีศิลปินดนตรีพม่าอาวุโสจำนวน 8 ท่าน ร่วมในการแสดงดนตรีและให้สัมภาษณ์ ซึ่งหวังว่าเมื่อทำการตัดต่อวิดีโอสำเร็จ ก็น่าจะเป็นงานสารคดีที่ทรงคุณค่ามากชิ้นหนึ่ง
วันที่ 4 มิถุนายน 2557 คณาจารย์และนักศึกษา คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปสถาบันดนตรีคีตมิตร (Guitamit) เตรียมการสถานที่และเครื่องดนตรีที่ใช้ในการฝึกอบรมและแสดงคอนเสิร์ตในวันรุ่งขึ้น พบว่าอุปกรณ์และเครื่องดนตรีของสถาบันคีตมิตรที่ได้จัดเตรียมให้นั้นส่วนหนึ่งขาดการรักษาซ่อมบำรุงจึงทำให้อุปกรณ์และเครื่องดนตรีบางอย่างเสื่อมสรรถภาพการใช้งานเช่น แกรนด์เปียโน แอมป์เบส แอมป์กีตาร์ และอุปกรณ์กลองบางส่วน ซึ่งเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนอาจจะไม่สามารถฝึกซ้อมดนตรีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ช่วงบ่ายได้เข้าชมห้องสมุดของสถาบันจัดตั้งอยู่ชั้น 3 ของอาคารภายในห้องมีการจัดหมวดหมู่ประเภทของดนตรี เช่น ดนตรีพื้นเมือง ดนตรีพม่า ดนตรีคลาสสิก ดนตรีแจ๊ส ในแต่ละประเภทดนตรีมีหนังสือวิธีการฝึกซ้อมในแต่ละเครื่องมือ หนังสือประวัติศาสตร์ดนตรี หนังสือพจนานุกรมดนตรี โน้ตเพลงการรวมวงดนตรีตั้งแต่วงเล็กถึงวงใหญ่ ซีดีเพลงและดีวีดีคอนเสิร์ตจำนวนหนึ่งซึ่งได้มาจากการคัดลอกสำเนาของอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาที่นำมาบริจาค ในส่วนของห้องสมุดก็มีห้องสำหรับการฟังดนตรีมีอุปกรณ์เครื่องเสียงวิทยุให้ใช้งานได้
วันที่ 5 มิถุนายน 2557 ช่วงเช้าจัดอบรมทักษะทางด้านการปฏิบัติดนตรีแจ๊สให้กับผู้ที่มีความสนใจโดย อาจารย์วุฒิชัย เลิศสถากิจ ผศ.ดร.ศักดิ์ศรี วงศ์ธราดล และนักศึกษาสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส จำนวนผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 20-30 คน หัวข้อในการจัดอบรมเน้นให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติดนตรีแจ๊ส องค์ประกอบของดนตรีแจ๊ส เสียงประสาน จังหวะ และการด้นสด และสไตล์เพลง มีหัวข้อดังต่อไปนี้
- ตัวอย่างจากบทเพลง Straight No Chaser บทประพันธ์ของ Thelonious Monk เป็นเพลงในในสไตล์แจ๊สบูลส์ ซึ่งได้บรรเลงให้ผู้ชมรับฟังพร้อมทั้งอธิบายองค์ประกอบของดนตรีแจ๊สบูลส์ ในเรื่อง ฟอร์ม (Form) การสื่อสารทางด้านดนตรีแจ๊ส (Communication) การโต้ตอบระหว่างผู้เล่นในวง (Call and Response) และแนวคิดในการด้นสดจากตัวอย่างของกลุ่มคอร์ดในเพลงเช่นการเล่น การใช้บูลส์โน้ต (Blues Note) จากสเกลพื้น การใช้คอร์ดโทน (Chord tone) 1-3-5-7 การสร้างและจัดเรียงประโยคทางด้านดนตรีแจ๊ส (Articulation) และความเข้าใจในเรื่องจังหวะสวิง (Swing Feel)
- เสียงประสานทางด้านดนตรีแจ๊ส เป็นเรื่องที่มีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งผู้บรรยายได้อธิบายถึงความรู้เบื้องต้นทางด้านทฤษฎีดนตรีว่าจำเป็นที่ผู้เล่นดนตรีแจ๊สต้องมีความรู้ทางด้านทฤษฎีดนตรีที่ดีควบคู่ไปกับความชำนาญในการปฏิบัติเครื่องดนตรีของตนเอง ในเรื่องสียงประสานของดนตรีแจ๊สนั้นได้แจกเอกสารประกอบการบรรยายคือ Rootless Voicing ในแบบ II-V-I ในเมเจอร์คีย์ (Major Key) และ ไมเนอร์คีย์ (Minor Key) และอธิบายส่วนประกอบของเสียงประสานทางด้านดนตรีแจ๊สที่มี 2 ส่วนคือ คอร์ดโทน และ เท็นชั่น (Tension) ยกตัวอย่างเช่น คอร์ด C Major 7 ประกอบด้วยโน้ต C-E-G-B เป็นโน้ตในคอร์ดโทนซึ่งได้รับความนิยมจากดนตรีร่วมสมัยซึ่งเป็นเสียงประสานธรรมดา คอร์ด C Major 7 ที่เพิ่มเท็นชั่นเข้าไปนั้นจะมีโน้ตนอกคอร์ดโทนเข้าผสมด้วยคือ C-E-G-B-D-F#-A เมื่อมีเท็นชั่นเข้ามาร่วมด้วยกับคอร์ดโทนนั้นจะทำให้ผู้เล่นมีปฏิกิริยาโต้ตอบรวมทั้งเป็นส่วนสนับสนุนในการด้นสด เป็นต้น
- ดนตรีแจ๊สสวิง ผู้บรรยายได้เล่าถึงรากฐานของดนตรีแจ๊สให้ผู้รับฟังได้เข้าใจที่มาที่ไปของสวิง สรุปได้ว่าจังหวะสวิงเกิดขึ้นจาก ดนตรีแอฟริกัน (African Music) ซึ่งมีการเล่นจังหวะที่ซับซ้อน (Poly Rhythm) จากนั้นได้สาธิตวิธีการเล่นเพลงแจ๊สที่เป็นจังหวะสวิงพร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องการเล่นสวิงในแต่ละเครื่องมือเช่น วิธีการเล่นเบส วิธีการเล่นกีตาร์ วิธีการเล่นกลอง เป็นต้น
- ดนตรีแจ๊สบอสซาโนวา (Jazz Bossanova) ยกตัวอย่างบทเพลง The Girl From Ipanema บทประพันธ์ของ Antonio Carlos Jobim และอธิบายหลักการวิธีปฎิบัติสไตล์บทเพลงบอสซาโนวาในแต่ละเครื่องมือ เช่น จังหวะในการเล่นคอร์ด (Comping) สำหรับเครื่องคอร์ด
- ดนตรีแจ๊สแซมบ้า (Jazz Samba) เป็นดนตรีแจ๊สบอสซาโนวาที่เพิ่มจังหวะให้เร็วขึ้นเท่าตัว (Double Time) ซึ่งต้องอาศัยทักษะความสามารถเฉพาะตัวสูงในการเล่นทำนองและการด้นสด
- การด้นสด (Improvisation) ผู้บรรยายกล่าวว่าการด้นสดของเครื่องดนตรีและการร้องสแกต (Scat) นั้นจำเป็นที่ผู้เล่นต้องมีทักษะความสามารถในการปฏิบัติที่ดี ความรู้ทางทฤษฏีดนตรีซึ่งมีผลต่อการด้นสด ยกตัวอย่างเช่น การด้นสดนั้นผู้เล่นต้องเข้าใจโครงสร้างเสียงประสาน (Structure Chord) จึงจะทำให้เล่นโน้ตได้ถูกต้องไม่ผิดเพื้ยนและความเข้าใจจังหวะในดนตรี แจ๊สแต่ละสไตล์
ระหว่างที่ทำการเวิร์คชอป ทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติพม่า Myanmar TV ได้มาทำการบันทึกเทปโทรทัศน์กิจกรรมดนตรีและสัมภาษณ์ อ.ดำริห์ บรรณวิทยกิจ คณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ เพื่อนำออกเผยแพร่ในข่า่วศิลปวัฒนธรรมให้สาธารณชนได้รับรู้ด้วย คณบดีได้เล่าถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายทางดนตรีในกลุ่มประชาคมอาเซียนและการนำดนตรีแจ๊สมาเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและคนพม่า
ช่วงบ่ายเป็นการแสดงคอนเสิร์ต Friendship Concert by Silpakorn Jazz Students จากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาดนตรีแจ๊ส คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเอาเอาเพลงช้าง ซึ่งเป็นเพลงที่ทุกๆ คนในประเทศไทยรู้จักกันดี มาเรียบเรียงใหม่ในลักษณะของดนตรีแจ๊ส และนำเพลง Thida หรือ Sinewa ที่รู้จักกันดีซึ่งเพลงดั้งเดิมของเมียนมาร์มาเรียบเรียงใหม่เช่นกัน ซึ่งก็ได้รับการสนใจและตอบรับเป็นอย่างดีจากนักศึกษาและอาจารย์ที่เข้าร่วมงาน
เพลงช้าง เป็นเพลงที่คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี พ.ศ.2530 เป็นผู้ประพันธ์ขึ้นมาจากทำนองเพลงพม่าเขว เพลงนี้เป็นร้องสำหรับเด็กที่ทุกเพศทุกวัยรู้จักกันดี จนได้รับการยกย้อ่งและคัดเลือกเป็นเพลงประเทศภาคพื้นเอเซียโดยศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเซีย หน่วยงานของยูเนสโก (ACCU: Asian Cultural Centre for UNESCO) ซึ่งเป็นองค์การหนึ่งของสหประชาติ ทั้งนี้นักศึกษาเห็นว่าเพลงช้างเป็นเพลงที่ฟังง่ายและสามารถสื่อถึงประเทศไทยได้ จึงนำเพลงนี้มาเรียบเรียงใหม่เป็นแนวดนตรีแจ๊ส มีการใส่ลูกเล่นการร้องที่เป็นลักษณะการด้นเสียงเพิ่มเข้าไปในบทเพลงก่อนเริ่มต้นเนื้อและทำนองเพลงช้างเดิม และมีการเดี่ยวเครื่องดนตรีในลักษณะด้นสดตามคีตสัญลักษณ์ของดนตรีแจ๊สที่ได้เรียบเรียงขึ้นมา เครื่องที่ใช้ประสมวงดนตรีของวงนี้ ได้แก่ ไวโอลิน กีต้าร์ เบส กลองชุด และร้อง
เพลง Thida หรือ Sinewa เป็นเพลงเมียร์มาร์เดิม ซึ่งถือได้ว่าเป็นเพลงครู คือ เป็นเพลงที่ใช้ในการหัดเรียนดนตรีเมียนมาร์ ซึ่ง Sinewa นั้นหมายถึง ฉิ่งเมียนมาร์ ที่เรียกว่า Si และกรับเมียนมาร์ที่เรียกว่า Wa Sinewa ก็คือ ฉิ่งและกรับซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้บอกจังหวัดที่เป็นพื้นฐานของดนตรีเมียนมาร์ และเป็นเพลงที่รู้จักกันโดยทั่วไป จึงทำให้นักศึกษาสนใจและนำมาเรียบเรียงใหม่เป็นเพลงบรรเลงให้มีความเป็นดนตรีแจ๊สเพิ่มขึ้น โดยใช้ไวโอลินเป็นเครื่องเล่นทำนองหลัก และใช้กีต้าร์และเบสเป็นเครื่องสร้างเสียงประสาน ซึ่งคิดขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของแจ๊ส เพราะเพลงของเมียนมาร์เดิมไม่มีการประสานเสียงอย่างตะวันตก (คอร์ด) แต่ใช้ทำนองหลักทำนองเดียวและเปลี่ยนทางเล่นไปตามเครื่องมือต่างๆ คล้ายกับดนตรีไทย และใช้กลองชุดเป็นเครื่องประกอบจังหวะ และเล่นในคีตลักษณ์ที่เป็นดนตรีแจ๊ส คือเริ่มเล่นด้วยส่วนของทำนองก่อนแล้วจึงตามด้วยการเดี่ยวเครื่องดนตรีแต่ละเครื่อง และจบด้วยทำนองเพลงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเพลงนี้ก็ได้เสียงตอบรับอย่างดีจากทั้งนักเรียน อาจารย์ และนักดนตรีอาวุโสที่นั่น
- Yardbird Suite / Charlie Parker บรรเลงในสไตล์เรกเก้ (Reggae) เรียบเรียงโดยนักศึกษา
- That’s all / Alan Brandt ขับร้องในสไตล์สวิง (Swing)
- Secret Love / Sammy Fain ขับร้องและเรียบเรียงโดย นางสาวสรัญธร ทวีรัตน์ ภายใต้การควบคุมของอาจารย์แดน ฟิลลิปส์ ในรายวิชา Jazz Ensemble VI
- Overjoyed / Stevie Wonder
- Ronin / Tawatchai Rungrojsoontorn ประพันธ์โดย นายธวัชชัย รุ่งโรจน์สุนทร ภายใต้การควบคุมของอาจารย์แดน ฟิลลิปส์ ในรายวิชา Jazz Ensemble VI
- Cry me a river / Arthur Hamilton
- Nica’s Dream / Horace Silver
- เพลงไทย ช้าง / คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง เรียบเรียงสียงประสานและจังหวะใหม่โดย นายอาชวิน สินธุ์สอาด โดยการใช้เทคนิคการเพิ่มเสียงประสานทางด้านดนตรีแจ๊สในเรื่องคอร์ดเทนชั่นและการจัดวางทำนองจากการตีความหมายใหม่บทเพลงโดยที่ยังคงรักษาทำนองที่เป็นเพนทาโทนิคไว้
- เพลงพม่า ธิดา / เรียบเรียงสียงประสานและจังหวะใหม่โดย นายอาชวิน สินธุ์สอาด โดยการใช้เทคนิคเรื่อง การปรับเปลื่ยนจังหวะและเสียงประสานของเพลงและเพิ่มท่อนด้นสดจากการสร้างกลุ่มคอร์ดใหม่เพื่อให้เกิดมิติในบทเพลง
ช่วงท้ายของคอนเสิร์ตเป็นการร่วมบรรเลงและขับร้องกันโดยไม่ได้เตรียมพร้อมหรือนัดหมายแต่อย่างใดระหว่างนักดนตรีพื้นเมืองของพม่า 3 ท่านในเครื่องดนตรี ดับเบิ้ลเบส เปียโน ขับร้อง และนักศึกษาดนตรีแจ๊สในเครื่องดนตรี กีตาร์ เบส กลอง (Jam Session) ในบทเพลง ซีเนหว่า (Sis Nae Wa) เป็นเพลงร้องที่มีการผสมกับการพูดระหว่างเพลง เริ่มต้นบทเพลงด้วยการเดี่ยวเปียโนขึ้นก่อนในลักษณะทำนองที่เป็น เพนทาโทนิค ในคีย์จี (G Major) จากนั้นนักศึกษาได้เริ่มบรรเลงตามโดยนำเอาโครงสร้างเพลงบูลส์ (Traditional Blues) มาใช้เป็นโครงสร้างหลักของบทเพลงรวมทั้งมีท่อนด้นสด (Improvisation) เข้ามาแทรกหลังจบท่อนทำนองหลัก
จากการร่วมบรรเลงด้วยกันของนักดนตรีทั้งสองกลุ่มในเพลง ซีเนวา (Sis Nae Wa) ความยาวประมาณ 5-6 นาทีเป็นการร่วมกันสร้างมิติใหม่ของดนตรีพื้นเมืองพม่าจากการตีความของทำนองหลักและอารมณ์ในขณะนั้นโดยอาศัยความรู้ทางด้านทฤษฏีดนตรีและพื้นฐานโสตทักษะที่ดีมาเป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการของดนตรีทั้ง 2 ประเภทได้เป็นอย่างดี
บทเพลงซีเนหว่า ได้รับเกียรติจากครูอู ถิ่น ศิลปินอาวุโสวัย 83 ปี เป็นผู้ขับร้อง และครูนายยี ศิลปินดนตรีที่มีชื่อเสียงอีกท่านของเมืองย่างกุ้ง บรรเลงเปียโน โดยใช้เทคนิคโบราณที่พม่าเรียกว่า “ซานดาหย่า” Sandaya มาเล่นบนเปียโนอย่างลื่นไหล มีลักษณะของการกระแทกจังหวะและการเชื่อมวรรคตอนแบบผกผัน ใช้นิ้วขาขึ้นขาลงที่เป็นเอกลักษณ์ของเปียโนแบบพม่าที่ไม่เหมือนใคร
หลังจากนั้น ครูอูถิ่นและคณะนักดนตรีพื้นเมืองอาวุโส ได้บรรเลงและขับร้องบทเพลงโยเดีย เพื่อเป็นการต้อนรับคณะศิลปินชาวไทย คำร้องเป็นภาษาพม่าที่แปลงมาคำสยามโบราณ ทำนองก็เป็นทำนองเพลงสยามโบราณที่ไม่อาจสืบหาต้นตอได้เนื่องจากกาลเวลานับร้อยปีและสังคมมุขปาฐะทำให้เพลงสยามในอดีตกลายเป็นพม่าไปโดยปริยาย
จากการสัมภาษณ์นักดนตรีแจ๊สชาวพม่า Pau Khan Thang (Panthang) ตำแหน่งดับเบิ้ลเบส อายุ 34 ปี ได้เรียนดับเบิ้ลเบสแจ๊สกับ Professor Goester Muller ชาวออสเตรียซึ่งมาจัดฝึกอบรมให้ทุกปี ในระยะเวลา 3 อาทิตย์ Pau Khan Thang เล่นดนตรีได้หลายเครื่องเช่น ดับเบิ้ลเบส (Double Bass) เบสไฟฟ้า (Electric Bass) และเครื่องเคาะต่างๆ (Percussion) แนวดนตรีที่ชอบคือ กอสเปล (Gospel) แจ๊ส (Jazz) และดนตรีในโบสถ์ (Church Music) นักดนตรีแจ๊สที่ชื่นชอบคือ Ron Carter Ray Brown และ Avishai Cohen
ในเรื่องสังคมดนตรีแจ๊สที่พม่าได้ข้อมูลว่าที่พม่าไม่มีโรงเรียนดนตรีที่สอนดนตรีแจ๊สเป็นหลัก ส่วนใหญ่อาศัยการเรียนส่วนตัว (Private) กับนักดนตรีแจ๊สที่มาเล่นตามโรงแรมหรือจัดคอนเสิร์ตบางครั้ง สถานที่เล่นยังคงมีอยู่เฉพาะโรงแรมเท่านั้นโดยที่ Pau Khan Thang เล่นประจำวันอาทิตย์ เวลา 12.00-14.00 ที่ Inyalake Hotel โดยมักจะบรรเลงดนตรีแจ๊สในแบบมาตรฐาน (Jazz Standard) เป็นหลัก
เย็นวันนั้น คณะอาจารย์และนักศึกษา ได้เดินทางไปเยือนแหล่งเรียนรู้หุ่นสาย “โยกปวย” Yoke Pwe ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางการแสดงหุ่นที่สำคัญของพม่า อันมีลักษณะพ้องกับการเชิดหุ่น marionette ของฝรั่งเศส แต่ว่าหุ่นสายพม่ามีกลไกที่สลับซับซ้อนที่เป็นแนวทางของตนและมีกระบวนการเชิดที่ต้องสัมพันธ์กับจังหวะทำนองดนตรีที่บรรเลงอยู่ตลอดเวลา แหล่งเรียนรู้นี้ อยู่ในบ้านพักของคุณขิ่น มอง ชเว Khin Muang Htwe คณะหุ่นชเวอู Htwe Oo Puppet ย่านชานเมืองย่างกุ้ง เขตอฮโลน ซึ่งเป็นทั้งที่พักของครอบครัวคุณขิ่น มอง ชเว และเป็นที่จัดแสดงการเชิดหุ่นพม่าให้แก่ผู้สนใจด้วย โดยมิได้เป็นลักษณะธุรกิจแสวงผลกำไร หากแต่เป็นการให้การศึกษาและรับบริจาคมากกว่า กิจกรรมหลักของคณะหุ่นชเวอูคือการเดินทางเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหุ่นพม่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้เดินทางรอบโลกมาเป็นเวลายาวนาน มีการบริหารจัดการในแนวเศรษฐกิจพอเพียง คุณขิ่น มองชเว ได้บรรยายเรื่องธรรมเนียมประเพณีการเชิดหุ่น การสร้างหุ่น กลไกของหุ่น เทคนิควิธีการเชิด และตัวอย่างตัวละครหุ่นที่สำคัญๆในขนบการแสดงโบราณ โดยมีนักแสดงที่เป็นเพื่อนบ้านและทายาทศิลปินแห่งชาติจากมัณฑะเลย์มาร่วมเชิดด้วย นอกจากนี้ยังได้ฝึกทายาทของตน เป็นเด็กชายอายุน้อย ให้รู้จักแสดงหุ่นพม่าได้อย่างมีชั้นเชิง การแสดงในช่วงเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง มี 13 รายการ โดยมีการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษและใช้เสียงดนตรีที่บันทึกไว้ล่วงหน้าเปิดประกอบเนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่และค่าใช้จ่าย ในช่วงท้าย คุณขิ่น มอง ชเว ได้เปิดโอกาสให้คณะอาจารย์และนักศึกษาได้ทดลองเชิดหุ่นด้วยตนเอง และมอบวิดีโอการแสดงหุ่นเพื่อเป็นการศึกษาแก่ทางคณะดุริยางคศาสตร์ด้วย จากนั้นได้บันทึกภาพร่วมกันเป็นที่ระลึกก่อนจะจากกันด้วยความประทับใจ
วันที่ 6 มิถุนายน 2557 หลังจากที่นักศึกษาได้แสดงคอนเสิร์ตแล้วทำให้นักเรียนและอาจารย์ที่ คีตมิตรเกิดความสนใจเรียนรู้และขอให้อาจารย์และนักศึกษาจัดอบรมอีกครั้งในเรื่องการปฏิบัติเครื่องเอกโดยได้แยกห้องเรียนทั้งหมด 5 ห้องประกอบด้วย เปียโน กีตาร์ เบส กลอง และขับร้อง หัวข้อในการอบรมเป็นเรื่องทักษะการปฎิบัติดนตรีแจ๊สเครื่องเอกและวิธีการด้นสด ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
ในห้องการขับร้องนั้นได้ยกตัวอย่างบทเพลงแจ๊สที่ได้รับความนิยมเช่น All of Me, Misty, The Girl Form Ipanema, Route 66 ขับร้องโดย นางสาวสรัญธร ทวีรัตน์ ซึ่งทำให้นักเรียนขับร้องพม่าได้ให้ความสนใจวิธีการวอร์มเสียง การร้องโดยใช้ย่านเสียงต่างๆ รวมทั้งวิธีการถ่ายทอดอารมณ์ในบทเพลง และเมื่อถึงหัวข้อการด้นสดของนักร้อง (Scat) ได้ยกตัวอย่างการร้องจากเพลงบูลส์โดยให้นักเรียนขับร้องจากกลุ่มโน๊ตง่ายๆในสเกลบูลส์ รวมทั้งลองให้ผสมภาษาพม่าในการด้นสดเช่นคำว่า มิงกลาบา แปลไทยว่า สวัสดี และคำว่า เจซู-ดิมบาเด แปลไทยว่า ขอบคุณ ทำให้เกิดความสนุกสนานและได้อรรถรสในการอบรมมากขึ้น