วัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านในอุษาคเนย์ มีการแลกเปลี่ยนร่วมกันมาแต่โบราณและพัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสังคม ความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน มีผลต่อสภาวะความอยู่รอด-การปรับเปลี่ยนและความสูญหายของดนตรีพื้นบ้านในอุษาคเนย์ ทำให้ดนตรีพื้นบ้านในภูมิภาคนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการศึกษา เก็บข้อมูล วิเคราะห์แยกแยะ และสร้างระบบการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะของห้องสมุดเสียงดิจิตอล หรือฐานข้อมูลโน้ตเพลง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาระยะยาวและการพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมดนตรีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เห็นความจำเป็นในการสร้างศูนย์เครือข่ายดนตรีดิจิตอลโดยเริ่มต้นจากการทำงานเป็นเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาในสาธารณรัฐสิงคโปร์ และสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยเลือกองค์กรทางการศึกษาหรือองค์กรที่เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมดนตรีที่เป็นตัวแทนในแต่ละประเทศ และสร้างความร่วมมือกับนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญระบบการเก็บข้อมูลดนตรีพื้นบ้าน เพื่อการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะ และระบบการใช้งานเทคโนโลยีดนตรีที่เกี่ยวกับเสียง การบันทึกโน้ต-บันทึกภาพ-บันทึกภาพเคลื่อนไหว ผ่านการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดความรู้ การทำโครงงานร่วมกัน และการพัฒนาแนวทางสื่อดิจิตอล อันจะนำไปสู่การสังเคราะห์ความรู้ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแนวทางในการอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านของอุษาคเนย์ ตลอดจนการพัฒนาไปสู่การสร้างงานสร้างสรรค์ที่มีความเหมาะสมกับแต่ละสังคมวัฒนธรรม