17 – 18 February 2014
Lasalle College of The Art : Singapore
Sri Warisan Som Said Performing Arts : Singapore
วัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านในอุษาคเนย์ มีการแลกเปลี่ยนร่วมกันมาแต่โบราณและพัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสังคม ความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน มีผลต่อสภาวะความอยู่รอด-การปรับเปลี่ยนและความสูญหายของดนตรีพื้นบ้านในอุษาคเนย์ ทำให้ดนตรีพื้นบ้านในภูมิภาคนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการศึกษา เก็บข้อมูล วิเคราะห์แยกแยะ และสร้างระบบการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะของห้องสมุดเสียงดิจิตอล หรือฐานข้อมูลโน้ตเพลง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาระยะยาวและการพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมดนตรีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เห็นความจำเป็นในการสร้างศูนย์เครือข่ายดนตรีดิจิตอลโดยเริ่มต้นจากการทำงานเป็นเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาในสาธารณรัฐสิงคโปร์ และสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า โดยเลือกองค์กรทางการศึกษาหรือองค์กรที่เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมดนตรีที่เป็นตัวแทนในแต่ละประเทศ และสร้างความร่วมมือกับนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญระบบการเก็บข้อมูลดนตรีพื้นบ้าน เพื่อการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะ และระบบการใช้งานเทคโนโลยีดนตรีที่เกี่ยวกับเสียง การบันทึกโน้ต-บันทึกภาพ-บันทึกภาพเคลื่อนไหว ผ่านการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดความรู้ การทำโครงงานร่วมกัน และการพัฒนาแนวทางสื่อดิจิตอล อันจะนำไปสู่การสังเคราะห์ความรู้ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแนวทางในการอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านของอุษาคเนย์ ตลอดจนการพัฒนาไปสู่การสร้างงานสร้างสรรค์ที่มีความเหมาะสมกับแต่ละสังคมวัฒนธรรม โดยมีเครือข่ายร่วมกับประเทศในสมาชิกอาเซียน ได้แก่
1. Lasalle College of The Arts สาธารณรัฐสิงคโปร์
2. SRI WARISAN SOM SAID Performing Arts Ltd สาธารณรัฐสิงคโปร์
ในกิจกรรมคอนเสิร์ตนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจากสถาบัน Lasalle College of The Art ให้ความสนใจวิธีการเล่นดนตรีแจ๊สใน เรื่อง วิธีการปฎิบัติ การเรียบเรียงเสียงประสาน และการด้นสด รวมทั้งนักศึกษาศิลปากรได้ข้อแนะนำเทคนิคการปรับแต่งเสียงดนตรี การจัดวางวงดนตรี วิธีการปรับย่านเสียง และวิธีการตั้งไมโครโฟน จากนักศึกษา Lasalle จากการไปเผยแพร่ดนตรีแจ๊สและสร้างมิตรภาพเพื่อสร้างเครือข่ายทางด้านดนตรีกับสถาบัน Lasalle ครั้งนี้ คณะดุริยางคศาสตร์ ได้มุมมองในการนำเทคโนโลยีมาประกอบการเรียนการสอน Live Stream คือการถ่ายทอดสดการเรียนในห้องเรียนผ่านเครือข่ายของสถาบัน ซึ่งในขณะที่คอนเสิร์ตดำเนินอยู่ก็ได้ถ่ายทอดสดและให้นักศึกษาและบุคคลากรในสถาบันได้รับชมด้วย ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้กิจกรรมในห้องเรียนได้เผยแพร่สู่ภายนอก โดยคณะดุริยางคศาสตร์สามารถนำเอากลยุทธ์การถ่ายทอดสดผ่านระบบเครือข่ายมาเป็นส่วนพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียนโดยเริ่มต้นจากการบันทึกวีดีโอในชั้นเรียน ต่อยอดสู่การจัดทำไฟล์วีดีโอให้ห้องสมุด และให้นักศึกษาสามารถสืบค้นไฟล์วีดีโอได้ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถย้อนกลับมาดูบทเรียนหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในห้องเรียนอีกครั้ง ในส่วนของกิจกรรม Workshop และ Master Class ในหนึ่งภาคการศึกษามีการจัดกิจกรรมหลายครั้งในทุกสาขาดังนั้นหากมีการถ่ายทอดสดให้นักศึกษาและบุคคลากรได้สามารถรับชมรับฟังโดยที่ไม่ได้อยู่ในห้องก็จะช่วยให้ได้รับข้อมูลข่าวสารได้อย่างทันที รวมทั้งวิธีการ Live Stream จะเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการเครือข่ายดนตรีอาเซียนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านดนตรีกับประเทศในอาเซียนในอนาคต
คณาจารย์และนักศึกษาได้รับความอนุเคราะห์จากทางสถาบันศิลปการแสดง ศรี วาริสัน Sri Warisan ซึ่งก่อตั้งโดยศิลปินแห่งชาติชาวสิงคโปร์เชื้อสายมาเลย์ มาดามสม ซาอิด Som Said เปิดชั้นเรียนดนตรีพื้นเมืองมาเลเซีย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมสำคัญของประเทศสิงคโปร์ (ประกอบไปด้วยชาติพันธุ์มาเลย์ จีนโพ้นทะเล และอินเดียใต้) ในการนี้ มีอาจารย์อะเดล ดซูลคารนาเอน บิน อะหมัด Adel Dzulkarnaen Bin Ahmad ทางสถาบันศรี วาริสัน รับหน้าที่เป็นวิทยากรหลัก อาจารย์ไฟซาล เวนคโซ Fisal Wenkshoz เป็นวิทยากรผู้ช่วย ใช้พื้นที่ส่วนการฝึกซ้อมดนตรีของสถาบันฯในการทำเวิร์คชอป มีนักศึกษาดนตรีจากทาง Lasalle เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการนี้ด้วย
ความรู้ที่ได้จากการเวิร์คชอป ได้แก่
- เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมมาเลเซีย ซึ่งสะท้อนออกทั้งในด้านการปฏิบัติตนต่ออาคันตุกะ การทักทาย การสนทนา การแต่งกายพื้นเมือง
- เครื่องดนตรีพื้นเมือง ประกอบไปด้วย Kentul เครื่องเคาะบอกสัญญาน ทำจากรากไผ่แกะสลัก, Kendang กลองสองหน้า ตีคุมจังหวะในวงดนตรีกาเมลัน มีสองขนาด ใบใหญ่เรียกว่า Kengdang Ibu (แม่) ใบเล็กเรียกว่า Kendang Anak (ลูก), kendang Melayu หรือ Rebana กลองหน้าเดียว, Jino กลองเบส, Kampong กลองหน้าเดียว, Saron ระนาดทองเหลือง, Telempung ฆ้องราว, Gong ฆ้องใหญ่ และ Angklung อังกะลุงเครื่องดนตรีพื้นเมืองมาเลย์ในสิงคโปร์ มีความสัมพันธ์กับเครื่องดนตรีอินโดนีเซียมาก แสดงถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่มีมาช้านานในภูมิภาคนี้
- การเรียนภาคปฏิบัติ การเล่นเครื่องดนตรีกาเมลันร่วมกัน ด้วยเพลงสั้นๆ ใช้โน้ตตัวเลข Kepatihan เป็นสื่อการสอน, การเรียนอังกะลุง, และการเรียนการตีกลอง Kampong ที่มีขั้นตอนสลับซ้อน ทั้งด้านการใช้จังหวะขัดกัน สอดสลับกัน มีการแบ่งเสียงหนักเบา และการขับร้องภาษามาเลย์ประกอบ