คอลัมน์นี้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอ “ว่าด้วยเรื่องคุณภาพของเสียง (Sound Quality Overview)” ที่ไม่ใช่การชี้ขาดว่า คุณภาพเสียงที่ดี คืออะไร? หรือ แบบใดที่เรียกว่าไม่ดี ไม่มีเทคนิคพิเศษที่ต้องการจะนำเสนออะไร เป็นการอธิบายภาพรวม ให้เห็นว่าเราสามารถประเมินคุณภาพของเสียงได้แตกต่างกันในมิติใดได้บ้าง รวมทั้งตั้งคำถามแก่ผู้อ่านว่า คุณภาพเสียงที่ดี หรือไม่ดี นิยามของท่านเป็นแบบใด โดยคอลัมน์นี้จะอ้างอิงจากหนังสือ “Sound and Recording, 6th Edition” ของ Francis Rumsey และ Tim McCormick เป็นส่วนใหญ่
เมื่อพูดถึงคุณภาพเสียง มันเป็นเรื่องของการรับรู้ในส่วนบุคคล ซึ่งมักจะมีการประเมินเรื่องความถูกต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะหลากหลายข้อที่ใช้เป็นตัวชี้วัดว่ามันดีหรือไม่? บางคนประเมินจากเสียงรบกวน บางคนประเมินจากมิติของเสียง บางคนประเมินโดยความเป็นธรรมชาติคงเดิมของเสียงเมื่อเปรียบเทียบกับต้นฉบับ หรือบางคนอาจจะมีการอ้างอิงอื่นๆ ในแบบฉบับของตัวเอง จนบางทีเราไม่ได้ข้อสรุปอะไรที่ชัดเจนจากความหลากหลายของความเห็นเหล่านี้
ประเด็น คือ เราควรจะทราบก่อนว่า “เรากำลังพูดคุยคุณภาพเสียงในบริบทใด?” และ “เราจะอ้างอิงคุณสมบัติ คุณลักษณะของเสียงเปรียบเทียบกับอะไร?” เพื่อให้มีความเหมาะสมหรือตอบโจทย์วัตถุประสงค์ในบริบทที่ตั้งไว้ Jens Blauert ได้อ้างอิงถึง “ระดับของความเลื่อนลอย (Level Of Abstraction)” ที่เมื่อกล่าวถึง คุณภาพเสียง ในระดับต่ำสุด (Low-Level) คือ การประเมินทั่วๆ ไป ในสัญญาณของเสียง (Audio Signal) ในขณะที่ระดับสูงสุด(High-Level) คือแนวคิด และความหมายของคุณภาพเสียง ข้อเสนอนี้เป็นกรอบสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจว่า บริบทใด ระดับใดของคุณภาพเสียงที่เรากำลังพูดถึงอยู่
ภาพประกอบที่ทำขึ้นมาโดย Francis Rumsey และ Tim McCormick ที่ประยุกต์จากแนวคิดของ Blauert แสดงให้เห็นถึง“ระดับของความเลื่อนลอย (Level Of Abstraction)” ที่สัมพันธ์กับบริบทของคุณภาพเสียงที่เรารับรู้ ด้านล่างสุดเป็น การรับรู้คุณภาพเสียง บางคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะ ตรงกลาง คือ เริ่มมีสภาพแวดล้อมหรือปัจจัยอื่นๆ มาบูรณาการกัน ส่วนด้านบนสุดเป็นการหาความหมาย ตัวบ่งชี้ หน้าที่ ความมีเหตุผล ของคุณภาพเสียง โดยในระดับสูงสุดเป็นการประเมินที่ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือที่สุด และมักจะถูกใช้ในการประเมินคุณภาพเสียงของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเสียง
เมื่อเข้าใจกราฟฟิกด้านบน ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่ากรอบของการนั่งคุยกันเรื่องคุณภาพเสียง ขอบเขตของมันอยู่ที่จุดใด ทำให้เราสามารถกำหนดเกณฑ์หรือเครื่องมืออะไรก็ได้ขึ้นมาสำหรับตนเองให้กับกรอบนั้น เช่น การนั่งถกประเด็นเรื่องคุณภาพเสียงของเพลงใดเพลงหนึ่ง มันอาจจะอยู่ในระดับ Low Level ที่เป็นการพูดคุย แลกเปลี่ยนในแง่ของโทนเสียงในมุมมองของแต่ละคน นำมาสรุปเป็นแนวทางของตน หรือ ถ้าเรากำลังจะเปรียบเทียบคุณภาพเสียงเพลงเพลงหนึ่งในระบบเสียงที่บ้าน มันก็จำเป็นที่ต้องเปรียบเทียบกับค่าวัดต่างๆ ที่วัดได้จากอุปกรณ์ เพื่อให้เราสามารถปรับแต่งระบบเสียงที่บ้านให้มีคุณภาพเสียงที่ตรงกับต้นฉบับมากที่สุด เป็นต้น
การประเมินคุณภาพเสียงแบบ Objective VS Subjective
งานดนตรีมีการผสมผสานระหว่างความเป็นศาสตร์และศิลป์ เป็นเรื่องที่อธิบายถึงเหตุผลได้ยากว่าชอบหรือไม่ชอบ พอๆ กันกับการเข้าไปดูงานจิตรกรรมที่รู้สึกว่าโดนใจอันนี้กว่าอีกอัน Francis Rumsey และ Tim McCormick เกี่ยวกับ คุณภาพของเสียง (Sound Quality) ไว้หลากหลายมิติ แต่ในส่วนแรกเขาเสนอว่าการประเมินคุณภาพของเสียงมีอยู่ 2 วิธี คือ
1.) Physical Terms: คุณภาพของเสียงที่สัมพันธ์กับอุปกรณ์การบันทึกเสียงต่างๆ เช่น ตัวนำของสายสัญญาณ ความผิดเพี้ยนของอุปกรณ์ไฟฟ้าในเครื่องขยายเสียง เป็นต้น สามารถวัดเป็นตัวเลข และบ่งบอกความผิดปกติที่สามารถอนุมานได้ว่ามันจะลดทอน–เพิ่มคุณภาพเสียงได้อย่างไร
2.) Perceptual: คุณภาพของเสียงโดยความรู้สึกจากการรับฟังของพวกเรา ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้
พวกเขาเสนอเพิ่มเติมว่า คุณภาพของเสียงที่เรารับรู้บางทีก็วัดโดยทางกายภาพไม่ได้ ส่วนอันที่สามารถวัดได้ ก็ไม่สามารถรับรู้ถึงคุณภาพที่สัมพันธ์กันได้ ลองนึกถึงการเปลี่ยนสายสัญญาณหูฟังของเรา แม้ว่าจะมีกราฟที่บ่งบอกว่าวัสดุที่เป็นตัวนำจะทำให้ย่านความถี่บางช่วงโผล่ขึ้นมา แต่เราก็ไม่สามารถรับรู้ถึงคุณภาพย่านเสียงในช่วงนั้นที่เพิ่มขึ้นได้
Physical Terms ถือว่าเป็นการให้คุณค่าแบบ “Objective (ภววิสัย)”ที่อ้างอิงมาจากข้อมูล หรือ “Free of any Bias or Prejudice Caused by Personal Feelings” ปราศจากอคติหรือการตัดสินส่วนบุคคล เรามักจะพบการประเมินแบบนี้ในการเช็คระบบเครื่องเสียง ไปจนถึงอุปกรณ์บันทึกเสียง โดยไล่วัดค่าความเพี้ยนของอุปกรณ์ที่ละขั้น ซึ่งจะอาจจะมีสื่อกลางต้นฉบับเอาไว้อ้างอิงเพื่อนำมาประเมินคุณภาพที่เปลี่ยนแปลงไปได้
ส่วน Perceptual นั้นเป็นแบบ “Subjective (อัตวิสัย)” คือ รู้สึกชอบเป็นการส่วนตัวมากกว่า ซึ่งสามารถพบได้ในทั่วไป
ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ ผู้ฟังที่มีประสบการณ์ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ สามารถที่จะกำหนด คุณสมบัติ และคุณลักษณะ ของคุณภาพเสียง อ้างอิงจากความเป็น Objective โดยวิเคราะห์ พิจารณา จนกกลายเป็นของที่ชอบ จนกลายเป็น Subjective ได้ในที่สุด (ภาพประกอบประยุกต์จากแนวคิดของ Bech and Zacharov ,Perceptual Audio Evaluation โดย Francis Rumsey และ Tim McCormick )
คุณลักษณะ (Attributes) ใดบ้างของคุณภาพเสียงที่เราเอามาประเมิน
การกำหนดถึงคุณลักษณะของคุณภาพเสียง มักจะมีคำนิยามว่า “Multi-Dimensional” คือ มีหลากหลายมุมมอง หรือคุณลักษณะที่สร้างโดยมนุษย์เราเมื่อพูดถึงเรื่องคุณภาพของเสียง แต่ Letowki ได้สร้างโมเดลที่เรียกว่า “Tree” ไว้ โดยแบ่งคุณลักษณะของคุณภาพเสียง 2แบบ คือ Spatial และ Timbral โดย Spatial หมายถึง ความเป็น 3 มิติ ของเสียง เช่น ซ้าย–ขวา หน้า–หลัง ที่บ่งบอกถึงตำแหน่งของเสียงต่างๆ ในเพลง ส่วน Timbral คือ สีสันของเสียง จะเป็นพวกโทนเสียง หรือเอฟเฟกที่เป็นพวก Distortion หรือ Noise
คุณสมบัติที่แยกออกจาก Spatial และ Timbral ที่เราพยายามจะลิสต์ขึ้นมา เมื่อนำไปเทียบในแนวคิดของ Blauert จะอยู่ในระดับ Low-Level ส่วนด้านบน คือ การประเมิน และตัดสินคุณภาพเสียงด้วยการบูรณาการ ด้วยข้อมูล แนวคิด การหานัยยะสำคัญ จะเป็น High-Level
คุณภาพ กับ ความชอบ
“ถ้าคุณภาพเสียงมันใช่สำหรับคุณ ,มันก็เป็นเช่นนั้น แล้วถ้ามันไม่ใช่, มันไม่ก็ไม่ใช่” นี่เป็น 1 ในความคิดเห็นจาก forum.audiogon.com ที่ถกเถียงเรื่องกันในหัวข้อเรื่อง “คุณภาพของเสียง” กันอย่างบ้าคลั่ง มีข้อเสนอที่หลากหลาย บางคนกล่าวในมุมของผู้ฟัง บางคนกล่าวถึงในมุมของผู้ผลิต มันเป็นความหลากหลายที่ไม่มีข้อสรุป ดูเหมือนว่าการรับรู้และประเมินคุณภาพเสียงแบบ Perceptual ย่อมนำ ซึ่งเป็นความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ รสนิยมความชอบ ลักษณะของดนตรีที่พวกเขานิยม เป็นผลให้เรามีความแตกต่างในมุมมองเรื่อง “คุณภาพของเสียง” ได้อย่างคนละขั้ว ผู้ที่ชอบดนตรีร็อกอาจชอบเสียงแตก หยาบมากกว่าผู้ที่ชอบฟังดนตรีคลาสสิกที่เน้นความเป็นธรรมชาติของเสียง ผู้ที่ชื่นชอบดนตรีฮิปฮอป อาร์แอนบีมีความเป็นไปได้ที่จะชอบความกระแทกของเบส ซึ่งอาจจะผิดใจกับผู้ที่ชอบฟังเพลงแบบนักร้องแจ๊สที่ชื่นชอบเสียงกลางมากกว่า
แต่ความชอบใจเหล่านั้นไม่ควรถูกทำให้สับสนด้วย Fidelity ซึ่งมันคือ ความละเอียดและความแม่นยำที่จะเก็บความสมดุลของช่วงเสียง และ มิติเสียง ที่จะยืนยันได้ว่ามันยังคง”คุณภาพ” อยู่เมื่อเสียงมันอยู่ในเครื่องเล่นของผู้บริโภค ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของ Fidelity อาจมาในรูปแบบของไฟล์ Mp3 หรือการทำซ้ำลงในสื่อกลางอื่นๆ แม้ว่า Fidelity ไม่ควรมองว่าเป็นรสนิยม หรือความชอบ แต่ปัจจัยความแตกต่างของระบบเสียงระหว่างผู้ผลิต-ผู้บริโภค ก็ส่งผลให้ Fidelity ถูกลดทอนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในการประเมินเรื่องคุณภาพเสียง อาจจะมีแค่ว่า “ชอบ” หรือ “ไม่” เพียงเท่านั้น และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เรามีคนที่ “ผิด” หรือ “ถูก” ที่จะกล่าวว่า “คุณภาพเสียงของเพลงนี้ฉันชอบ และฉันว่าดีกว่าอีกเพลง” และเมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราไม่ควรดูถูกเรื่องของรสนิยมของใครทั้งนั้น
“คุณภาพของเสียง“ กับ ความถูกต้อง? ใครที่ควบคุมมัน
ในมุมมองของซาวด์เอ็นจิเนียร์จะมีแนวคิดที่ปลูกฝังมานาน พวกเขาจะมีธรรมเนียม และข้อปฏิบัติที่มีมาอย่างยาวนาน แน่นอนว่าหากเราเป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์ฝ่ายบันทึกเสียง เราย่อมเลือกอุปกรณ์ที่แสดงผลลัพธ์ทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นไมโครโฟนที่ดีที่สุด เครื่องขยายสัญญาณที่ดีที่เพี้ยนน้อยที่สุด เพื่อให้คุณภาพเสียงออกมาสมบูรณ์แบบ หรือถ้าเราเป็นผู้ผสมเสียง เราย่อมมีมิติการจัดวางเสียงที่เพอร์เฟ็คในหัว มีออดิโอโพรเซสเซอร์ หรือปลั๊กอินที่จะทำให้งานมันมีคุณภาพดีที่สุด สมมติฐานว่านี่คือที่ถูกต้องที่สุดในกระบวนการนั้นๆ ของเรา แต่ในประสบการณ์ของหลายคนจะพบว่า มีนักดนตรีต้องกลับมาบันทึกเสียงใหม่ เพราะรู้สึกว่า “มันไม่ใช่” หรือต้องส่งกลับมาผสมเสียงใหม่แทบจะนับครั้งไม่ได้ เพราะมันเริ่มเกิดความขัดแย้งกันบน”ความรู้สึกส่วนตัว” ที่มีต่อคุณภาพเสียงที่แตกต่างกัน
นี่อาจจะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่เมื่อตราบใดที่กระบวนการผลิตดนตรีมีระบบการปกครอง มีการรับผิดชอบหลากฝ่าย และมีแง่มุมของการบริการมาเกี่ยวข้องด้วย “คุณภาพเสียง” จึงไม่ได้ถูกประเมินเพียงแค่ซาวด์เอ็นจิเนียร์เท่านั้น มีข้อแนะนำว่า เราควรหาว่าใครจะเป็นผู้ที่ควบคุม และยืนยันว่า “คุณภาพเสียง” ของบทเพลงนั้นๆ มีความดีงามที่ผ่านมาตรฐานแล้ว ผู้ควบคุมอาจปรากฎในฐานะของศิลปินเจ้าของเพลง โปรดิวเซอร์ ผู้ฟัง เจ้าของบริษัท หรือมาในฐานะของสถาบัน หรือองค์กร ซึ่งการเข้าใจว่าใครอยู่ในบทบาทอะไร พวกเขาต้องการอะไร จะทำให้เกิดความลื่นไหลในกระบวนการผลิตดนตรี และลดการโต้เถียงที่อาจจะบานปลายจนหาข้อสรุปไม่ได้
ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ และการเฟ้นหาว่าใครเป็นผู้ควบคุมผลิตภัณฑ์ดนตรี ย่อมเกิดทางเลือกใหม่ให้กับ “คุณภาพของเสียง” โดยที่พวกเขาอาจจะไม่สนใจว่าวิธีการมันจะถูกต้อง หรือไม่? อย่างไร?
เราจะเห็นว่า มุมมองและการประเมินคุณค่า “คุณภาพของเสียง” มีอย่างหลากหลาย จากความรู้สึกส่วนตัวก็ดี หรือจากความเป็นภววิสัย ก็ดี ซึ่งจาก 2 สิ่งนี้ ย่อมสถาปนาคุณค่าขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ อย่าลืมสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ด้วยการกำหนดบริบทของการประเมินคุณภาพของเสียงก่อนเพื่อเลือกเครื่องมือว่าจะนำอะไรขึ้นมาอ้างอิง คุณสมบัติ? กลุ่มผู้ฟัง? หรือค่าวัดอื่นๆ โดยไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ผลิต-ผู้บริโภค จะเป็นการที่ดีที่สุดที่เราจะต้องมีทัศนคติที่เปิดกว้างด้วยเช่นกัน ว่า “คุณภาพ” เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ค่านิยม เทคโนโลยี และผู้คน หากเรามีจุดยืน และเจตนาที่จะนำเสนอคุณค่าและคุณภาพในแบบฉบับของเราเอง ไม่แน่เราอาจจะสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาก็ได้นะ!
อ้างอิง
Website
GM2000. หลักการประเมินคุณภาพเสียง [ประเภทออนไลน์]. http://www.lennshophd.com/smartblog/17_Soundtest.html
Jen Blauert. Concepts In Sound Quality [ประเภทออนไลน์]. https://www.aes.org/live/?ID=221
หนังสือ
Francis Rumsey. Tim McComick. (2009). Sound And Recording (6th Edition). Oxford: Focal Press.